หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศฉบับที่ 18 กำหนดให้ผับ บาร์ ร้านอาหาร ตลาดทุกประเภท รวมทั้งสวนจตุจักรเป็นเขตปลอดบุหรี่ มีผลบังคับใช้ 11 กุมภาพันธ์ นี้ ถ้าฝ่าฝืนทั้งคนสูบและเจ้าของสถานที่มีโทษปรับ 2,000-20,000 บาท แล้วนั้น เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุข รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในรถยนต์และยานพาหนะ ที่มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ภายในรถด้วย ผู้ใดฝ่าฝืนสูบบุหรี่ ไปป์ ซิการ์ เป็นการกระทำผิดกฎหมาย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 โดยให้เหตุผลถึงการออกกฎหมายฉบับนี้ว่า เด็กๆไม่ได้รับความคุ้มครองสุขภาพในขณะที่ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่สูบบุหรี่ในรถ ซึ่งเด็กจะได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง เพราะหากมีคนสูบบุหรี่ในรถจะมีระดับมลพิษที่เป็นอันตรายสูงเป็น 10 เท่าของระดับมาตรฐาน ที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ นอกจากนี้ การห้ามสูบบุหรี่ในรถยนต์ยังช่วยลดปริมาณของก้นบุหรี่ที่ถูกทิ้งตามถนนหนทาง เป็นแหล่งเกิดขยะที่อาจก่อให้เกิดปัญหาอัคคีภัยตามมา และยังเป็นการช่วยให้ผู้ปกครองหรือญาติของเด็กๆ เลิกสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้นด้วย
นพ.ประกิตกล่าวอีกว่า น่าเป็นห่วงเด็กไทยที่ประเทศ ไทยยังไม่มีกฎหมายแบบนี้ ทั้งๆที่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าเด็กๆส่วนใหญ่ยังคงได้รับอันตรายจากการได้รับควันบุหรี่อย่างต่อเนื่อง จากรายงานของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ที่ทำการสำรวจนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-4 ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,067 คน พบว่า พ่อสูบบุหรี่ในรถยนต์ร้อยละ 37.1 ขณะที่ลูกนั่งอยู่ด้วย พ่อสูบบุหรี่ขณะนั่งดูทีวีอยู่กับลูกร้อยละ 25.3 แสดงให้เห็นว่า มีเด็กอีกเป็นจำนวนมากยังคงได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง ที่ส่งผลถึงปัญหาสุขภาพของเด็กมากมาย เช่น โรคติดเชื้อทางระบบหายใจ เนื่องจากควันบุหรี่ไปทำให้ เกิดการระคายเคืองและอักเสบ ทำให้เด็กเป็นไข้ ไอ และหอบ, โรคหอบหืด เพราะสารพิษจากควันบุหรี่ไปทำลายปอดของเด็ก, โรคหูชั้นกลางอักเสบ เพราะควันบุหรี่ไปทำอันตรายทำให้เกิดน้ำในหูชั้นกลาง ซึ่งจะทำให้เด็กมีปัญหาในการได้ยิน เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ หากผู้ปกครองเป็นห่วงบุตรหลาน ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในรถยนต์และในทุกๆที่ที่มีเด็กอยู่ด้วย